ข้อแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้จากการจัดฟัน
การรักษาต่างๆไม่ว่าในทางการแพทย์หรือทางทันตกรรม ย่อมมีปัจจัยเสี่ยงและข้อจำกัดด้วยกันทั้งสิ้น ดังนั้นก่อนตัดสินใจรับการรักษา ผู้ป่วยจึงควรรับทราบและพิจารณาผลเสียต่างๆที่อาจเกิดขึ้นดังต่อไปนี้
-การเกิดฟันผุ โรคเหงือก และการเกิดจุดด่างขาว(decalcification)บนผิวเคลือบฟัน ผลเหล่านี้จะเกิดในกรณีที่ผู้ป่วยรับประทานอาหารที่มีน้ำตาลมากเกินไป และ/หรือไม่ทำความสะอาดฟันอย่างถูกวิธีและอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งปัญหานี้ก็เกิดขึ้นได้ตามปกติแม้จะไม่ได้รับการจัดฟัน แต่การจัดฟันก็จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคดังกล่าวได้มากขึ้น
-ในผู้ป่วยบางราย อาจทำให้ความยาวของรากฟันลดลงในขณะที่จัดฟัน ซึ่งโอกาสที่จะเกิดนั้นมีไม่เท่ากันในแต่ละราย ส่วนใหญ่มักเกิดอย่างไม่มีนัยสำคัญ และจะไม่มีผลกระทบต่อประสิทธิภาพการ บดเคี้ยวอาหาร
-การเคลื่อนฟัน อาจมีผลต่อสุขภาพของกระดูกและเหงือกที่รองรับฟันอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่มีรอยโรคเดิมอยู่แล้ว ในผู้ป่วยที่มีการเรียงตัวของฟันที่ผิดปกติ การจัดฟันจะช่วยลดการสูญเสียฟัน หรือการเกิดเหงือกอักเสบได้ ส่วนการเกิดเหงือกอักเสบหรือการเกิดการละลายตัวของกระดูกเบ้าฟัน จะเกิดได้ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่สามารถทำความสะอาดฟันเพื่อกำจัดคราบจุลินทรีย์ออกจากฟันได้หมด
-ในบางกรณี อาจมีปัญหาเกิดขึ้นที่ข้อต่อขากรรไกร อันมีผลให้เกิดการปวดที่ข้อต่อดังกล่าว ปวดศีรษะ หรือภายในหู ซึ่งปัญหานี้อาจจะเกิดขึ้นได้แม้จะไม่ได้รับการจัดฟัน ดังนั้น ถ้าเกิดปัญหาเหล่านี้ขึ้น ผู้ป่วยควรจะรีบแจ้งให้กับทันตแพทย์ทราบ
-ในบางกรณี สำหรับฟันซี่ที่เคยได้รับอุบัติเหตุมาก่อน หรือเคยผุลึกมากๆ การเคลื่อนฟันอาจมีผลต่อเส้นประสาทที่มาหล่อเลี้ยงฟัน ทำให้มีอาการมากขึ้นจนต้องทำการรักษาคลองรากฟัน
-ในบางกรณี เครื่องมือจัดฟันอาจหลุด และคนไข้อาจกลืนลงไปด้วยความบังเอิญ ซึ่งจะออกจากร่างกายโดยการขับถ่าย นอกจากนี้เครื่องมือจัดฟันอาจทำให้เกิดการระคายเคือง หรือเกิดแผลบริเวณเหงือก แก้ม และริมฝีปากได้
-ในบางกรณี(ซึ่งเกิดขึ้นน้อยราย) การใช้เครื่องมือทางทันตกรรมจัดฟัน อาจทำให้เกิดแผลในช่องปาก หรือเกิดการกระทบกระแทกต่อฟันได้บ้าง ส่วนการสึกของฟันที่ผิดปกติอาจเกิดขึ้นเองได้ถ้าผู้ป่วยมีการบดเคี้ยวที่รุนแรงกว่าปกติ
-การใช้เครื่องมือจัดฟันชนิดนอกช่องปาก เช่น headgear เป็นต้น อาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุต่อ
ใบหน้า หรือตาจนถึงขั้นตาบอดได้ถ้าใช้โดยขาดความระมัดระวัง
-โดยมาก การจัดฟันเพื่อแก้ไขการมีฟันซ้อนเก มักจะต้องมีการถอนฟันบางซี่ หรือในการแก้ไขการไม่สมดุลของโครงสร้างขากรรไกรบนและล่าง อาจต้องอาศัยการผ่าตัดร่วมด้วย ผู้ป่วยจึงควรสอบถามถึงปัจจัยต่างๆที่อาจเกิดขึ้นจากการได้รับการบำบัดรักษาดังกล่าวจากทันตแพทย์ผู้ให้การรักษาก่อนการตัดสินใจ
-รูปร่างของฟันที่ผิดปกติ หรือการเจริญเติบโตที่ผิดปกติของขากรรไกร อาจจะทำให้ผลการรักษาที่ได้รับถูกจำกัดมากขึ้น
ใส่ความเห็น